สุขศาสตร์อุตสาหกรรม

สุขศาสตร์อุตสาหกรรม

สุขศาสตร์อุตสาหกรรม คือ การดูแล ตรวจสอบ และปรับปรุงสภาพแวดล้อมในการทำงาน เพื่อให้เกิดความปลอดภัยต่อผู้ปฏิบัติงาน โดยอาจมีขอบเขตการปฏิบัติงาน 3 ขั้นตอน คือ การตระหนัก (Recognition), การประเมิน (Evaluation) และ การควบคุม (Control)

หลักการ 4 ประการของสุขศาสตร์อุตสาหกรรม

หลักการ 4 ประการของสุขศาสตร์อุตสาหกรรม คือ การคาดคะเน(Anticipation) การตระหนักถึงอันตราย (Recognition) การประเมินอันตราย (Evaluation) การควบคุม (Control) ซึ่งหลายคน ได้กำหนดออกมาเป็น ขอบเขตของงานสุขศาสตร์อุตสาหกรรม 3 ประการ แทน เพื่อให้มองเห็นเป็นขอบเขตของการทำงาน ดังนี้ การตระหนักถึงอันตราย (Recognition) การประเมินอันตราย (Evaluation) การควบคุม (Control) 

ขอบเขตของงานสุขศาสตร์อุตสาหกรรม

ขอบเขตงานสุขศาสตร์อุตสาหกรรม ทั้ง 3 ด้าน ตระหนัก ประเมิน ควบคุม อาจจะต้องเกิดขึ้นซ้ำไป ซ้ำมา เพื่อป้องกันและเฝ้าระวังอย่างสม่ำเสมอ ทั้ง 3 ขอบเขตมีข้อกำหนดและข้อปฏิบัติดังนี้

1. การตระหนัก (Recognition) คือ

การต้องรู้ถึงอันตรายอันอาจเกิดขึ้นกับพนักงานทั้งทางตรงและทางอ้อม ซึ่งต้องค้นหาหรือบ่งชี้อันตรายจากปัจจัยสิ่งแวดล้อมในการทำงาน ซึ่งส่งผลต่อสุขภาพของผู้ปฏิบัติงาน และยังส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพในการทำงานของผู้ปฏิบัติงานด้วย

นักสุขศาสตร์อุตสาหกรรมต้องเป็นผู้ดำเนินการในเรื่องนี้ ซึ่งต้องเป็นผู้ที่มีความรู้และความเข้าใจในกระบวนการผลิตต่าง ๆ ในโรงงานหรือสถานประกอบการ สังเกต หรือการสอบถามผู้ปฏิบัติงานและผู้บริหารระหว่างการสำรวจ รวมถึงศึกษาจากเอกสารที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการผลิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งรายชื่อสารเคมีและผลิตภัณฑ์ที่ใช้ทั้งหมดควรที่จะมีไว้เพื่อใช้อ้างอิงในระหว่างการประเมินระดับปัญหาสิ่งแวดล้อมในสถานที่ปฏิบัติงาน ในขั้นตอนนี้จะทำให้เราทราบถึงแหล่งกำเนิดมลพิษในสถานประกอบการ ความเป็นพิษของวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในกระบวนการผลิต รวมถึงมาตรการควบคุมที่ใช้อยู่

อย่าลืมทบทวนรายงาน (Record review) และจากการเดินสำรวจเบื้องต้น (Walk through survey) ซึ่งเป็นกิจกรรมหนึ่งในกระบวนการค้นหาสิ่งคุกคาม

2. การประเมิน (Evaluation) คือ

ขั้นตอนการประเมินอันตรายจากสิ่งแวดล้อมในการทำงาน เพื่อประเมินระดับของปัญหาที่พบนั้น  เพื่อที่จะได้ทราบถึงแหล่งและต้นตอของปัญหาได้อย่างถูกต้อง รวมถึงยังต้องมีการศึกษาและทำความเข้าใจในประเด็นสำคัญต่างๆ เพื่อใช้เป็นแนวทางประกอบการพิจารณา เช่น ข้อกำหนดทางกฎหมาย ค่ามาตรฐานต่างๆ จำนวนผู้ปฏิบัติงาน ระยะเวลาการสัมผัสกับปัจจัยเสี่ยงของผู้ปฏิบัติงาน เป็นต้น จากนั้นจึงทำการพิจารณาเลือกเครื่องมือและอุปกรณ์สำหรับประเมินอันตรายจากสิ่งแวดล้อมในการทำงาน สำหรับปัจจัยเสี่ยงบางประเภทไม่สามารถทำการวิเคราะห์ผลได้ทันที จำเป็นต้องมีการส่งตัวอย่างที่ทำการเก็บไว้ไปวิเคราะห์ต่อยังห้องปฏิบัติการ ดังนั้นผู้ทำการตรวจวัดและเก็บตัวอย่างต้องมั่นใจว่าได้ดำเนินการเก็บตัวอย่างอย่างถูกต้องและมีปริมาณตัวอย่างที่เพียงพอ พร้อมทั้งสามารถรักษาสภาพของตัวอย่างที่เก็บได้อย่างเหมาะสมก่อนที่จะส่งให้นักวิเคราะห์ต่อไป เพื่อให้ผลการตรวจวิเคราะห์มีความถูกต้องแม่นยำที่สุด

3. การควบคุม (Control) คือ

ถ้าผลการตรวจวัดและวิเคราะห์ที่ได้จากขั้นตอนการประเมินเกินค่ามาตรฐานหรือมีค่าสูงเสี่ยงต่อการเกิดอันตรายต่อผู้ปฏิบัติงาน ต้องมีการจัดมาตรการเพื่อลดหรือกำจัดอันตรายเหล่านั้น โดยการจัดทำเป็นแผนงานสุขศาสตร์อุตสาหกรรมและจัดทำโครงการย่อยต่าง ๆ เพื่อแก้ไขปรับปรุงสภาพแวดล้อมในการทำงานที่มีปัจจัยเสี่ยงเกินค่ามาตรฐานนั้น เช่น โครงการอนุรักษ์การได้ยิน การจัดหาอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลให้กับพนักงานสวมใส่ขณะปฏิบัติงาน การอบรบให้ความรู้ผู้ปฏิบัติงานเกี่ยวกับอันตรายจากการทำงาน หรืออาจจัดทำป้ายหรือสัญลักษณ์สื่อสารความเป็นอันตรายให้ผู้ปฏิบัติงานทราบ เป็นต้น

หน้าที่ของนักสุขศาสตร์อุตสาหกรรม

Industrial Hygienist หรือ นักสุขศาสตร์อุตสาหกรรม คือ จป.ระดับวิชาชีพ มีหน้าที่หลัก ในการควบคุมปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม หรืออันตรายที่เกิดจากการทำงาน ซึ่งจำเป็นต้องประกอบด้วยความรู้หลายๆด้าน เช่น ความปลอดภัย ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา วิทยาศาสตร์ วิศวกรรม เพื่อให้ปฏิบัติงานด้านอาชีวสุขศาสตร์ได้อย่างครบถ้วน

สุขศาสตร์อุตสาหกรรม และอาชีวเวชศาสตร์

สุขศาสตร์อุตสาหกรรม และอาชีวเวชศาสตร์ เป็นสิ่งที่ไม่สามารถแยกออกกันได้ เพราะต่างต้องส่งเสริมซึ่งกันและกัน โดยอาชีวเวชศาสตร์ เน้นการดูแลสุขภาพผู้ประกอบอาชีพจากสิ่งคุกคามและความเสี่ยงต่อสุขภาพที่เกิดขึ้นจากการทำงานรวมถึงสภาพแวดล้อมในการทำงาน ส่วนสุขศาสตร์อุตสาหกรรมใช้ดูแลสิ่งแวดล้อมในการทำงานเพื่อให้ปลอดภัยอยู่เสมอ โดยใช้ 4 หลักการที่สำคัญ การคาดคะเน (Anticipation) การตระหนักถึงอันตราย (Recognition) การประเมินอันตราย (Evaluation) การควบคุม (Control)

ดังนั้นจะเห็นได้ว่าการเรียน ในสาขาอาชีวอนามัยและความปลอดภัย จึงมีการเรียนในทั้งสุขศาสตร์อุตสาหกรรม และอาชีวเวชศาสตร์ รวมถึงต้องมีความรู้พื้นฐานในด้าน เคมี ฟิสิกส์ ชีววิทยา แคลคูลัส เป็นต้น เพื่อให้สามารถใช้ความรู้ไปประยุกต์ใช้ในการทำงานได้อย่างถูกต้องครอบคลุม และ ยังต้องเป็นผู้มีความสามารถในการติดต่อประสานงาน การบริหารจัดการ เพื่อให้เกิดความสัมฤทธิ์ ที่ดีในด้านความปลอดภัยอีกด้วย

สรุป

สุขศาสตร์อุตสาหกรรม คือ การคาดคะเน(Anticipation) การตระหนักถึงอันตราย(Recognition) การประเมินอันตราย(Evaluation) การควบคุม (Control) เพื่อให้เกิดความปลอดภัยและสุขภาพที่ดีในการทำงาน

สินค้าแนะนำ

PDPA Icon

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save